การประเมินราคามีอยู่หลายแบบ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์และมีวิธีการที่แตกต่างกัน แล้วการประเมินแบบไหน ใช้กับอะไรล่ะ?
ราคาประเมินจากกรมที่ดิน
ราคาประเมินของกรมที่ดินมักจะไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันจริงในท้องตลาด (ส่วนมากจะต่ำกว่าราคาซื้อขายด้วย) แต่ถึงอย่างนั้นก็มักเป็นราคาที่มักจะถูกใช้อ้างอิงประกอบการซื้อขายด้วย แต่หลักๆแล้วราคาประเมินกรมที่ดินเป็นราคาที่จะใช้ในการคิดค่าอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการซื้อขาย และยังใช้คำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของทรัพย์สินต้องชำระในแต่ละปีด้วย
ราคาประเมินของธนาคาร
ราคาประเมินของธนาคารเป็นราคาที่ใช้สำหรับการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคาร ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขให้สินเชื่อในอัตรา 80-100% ของราคาซื้อขาย (ในใบสัญญาจะซื้อจะขาย) หรือราคาประเมินของธนาคาร แล้วแต่ว่าราคาใดต่ำกว่า
ราคาประเมินของผู้ลงทุน
ราคาประเมินของผู้ลงทุนเป็นราคาที่ใช้ในการประเมินความเหมาะสมของการเข้าซื้อ โดยนิยมใช้วิธีประเมิน 3 รูปแบบนี้
- ราคาตลาด – ราคาที่ซื้อขายกันจริงในตลาดในช่วงเวลานั้น สืบค้นโดยหาราคาทรัพย์สินที่มีลักษณะเดียวกันในบริเวณใกล้เคียง ถ้าอยู่บนถนนหรือซอยเดียวกันได้ยิ่งดี หรือถ้าเป็นหมู่บ้านก็จะค่อนข้างหาราคาได้ง่าย
- ราคาจากความสามารถในการทำกำไร – ราคาที่พิจารณาจาก Passive income ที่ทรัพย์สินจะให้เราได้ในแต่ละปี เช่น ค่าเช่า เป็นต้น
- ราคาจากต้นทุนทดแทน – ราคาที่ประเมินจากต้นทุนในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่อาจจะต้องสร้างขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิม หักค่าเสื่อมราคา มักใช้กับทรัพย์สินที่หาราคาเทียบในตลาดไม่ได้